เลือกของเล่นให้เด็กพิเศษ ชื่อว่าของเล่นแล้วก็ต้องคู่กับเด็ก ไม่ว่าเด็กปกติทั่วไป หรือเด็กพิเศษ ก็ล้วนแต่ต้องการเล่น และของเล่นควบคู่กันไป จึงขึ้นอยู่กับพ่อแม่ว่าจะเลือกวิธีการเล่น และของเล่นอย่างไร ให้เหมาะกับเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กพิเศษที่อาจจะมีข้อจำกัดในบ้างด้านทำให้ไม่สามารถเล่น ได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป พญ.เกศินี โอวาสิทธิ์ กล่าวถึงความสำคัญของการเล่น |
![]() |
พ่อแม่จึงควรเล่นกับลูกเป็นประจำ จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พ่อแม่จะรู้ว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไร สิ่งไหนที่ลูกทำได้หรือไม่ได้ พูดรู้เรื่อง ชัดเจน เล่าเรื่องได้หรือเปล่า ถ้าลูกถูกขัดใจจะมีปฏิกิริยา ท่าทางอย่างไร ต้องชนะตลอด แพ้ไม่เป็นหรือเปล่า ทำให้พ่อแม่ประเมินได้ว่าลูกมีพัฒนาการเหมาะสมกับวัยหรือไม่ แล้วพฤติกรรมต่างๆ ของลูกเหมาะสมหรือเปล่า จะหาวิธีส่งเสริมหรือแก้ไขได้อย่างถูกต้องต่อไป ดังนั้น ประโยชน์จากการเล่น นอกจากเสริมพัฒนาการ สานสัมพันธ์แล้ว ยังช่วยให้สังเกตพฤติกรรม และทักษะด้านต่างๆ ของลูกด้วย”
การเล่นของเด็กพิเศษ
“พูดถึงคำว่าเด็กพิเศษนั้น แยกย่อยได้อีกหลายกลุ่ม เช่น บางคนมีสติปัญญาต่ำกว่าวัย เคลื่อนไหวร่างกายไม่คล่องหรือรวดเร็วเกินไป แยกตัวไม่สนใจคนอื่น ดังนั้น ต้องดูเป็นกรณีไปว่าเด็กแต่ละคนบกพร่องด้านไหน อย่างไร เช่น กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก การพูด ความเข้าใจภาษา การใช้ภาษาท่าทางและภาษาคำพูด ด้านอารมณ์และสังคม ทำให้เด็กไม่สามารถเล่นได้ตามที่ใจต้องการเหมือนเด็กปกติอื่นๆ ไม่สามารถบอกหรือบอกได้แต่ไม่ทันใจว่าอยากเล่นอันนี้ เล่นแบบนี้ ไม่เอาอันนั้น หรือไม่สนใจใครเลยอยู่คนเดียวในโลกส่วนตัว และบ่อยครั้งที่เด็กพิเศษมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์ร่วมด้วย ทำให้คนที่เล่นด้วยไม่เข้าใจ ไม่สนุก และเบื่อที่จะเล่นด้วยในที่สุด พ่อแม่จึงต้องคอยสังเกตลูกว่าชอบเล่นอะไร แบบไหน ชม เชียร์ เมื่อลูกทำได้ ให้กำลังใจเมื่อยากไป พยายามสร้างบรรยากาศให้เกิดความสนุก รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ จะทำให้การเล่นครั้งต่อไปลูกก็อยากเล่นกับพ่อแม่ด้วย เพราะพ่อแม่เข้าใจ และไม่กดดันให้ต้องทำสำเร็จ”
ของเล่นสำหรับเด็กพิเศษ
“เด็กพิเศษบางคนที่อายุ 2 ขวบ อาจจะเล่นของเล่นสำหรับเด็กปกติอายุ 2 ขวบได้ไม่ทุกชิ้น เพราะพัฒนาการบางด้าน เช่น กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก การใช้มือกับตาประสานกัน การควบคุมสมดุล การใช้ภาษา อาจยังไม่ดีเท่ากับเด็ก 2 ขวบ เช่น มีดของเล่น เด็กปกติเห็นแล้วเล่นได้เลย แต่เด็กพิเศษบางคนยังจับไม่ถูก หงายคมผิดข้าง บางคนเอามาชิม หรือบางคนรู้แต่ยังใช้ข้อมือไม่คล่อง ไม่มีแรง เป็นต้น
“ในส่วนของการเลือกซื้อของเล่นสำหรับเด็กพิเศษคล้ายกับเลือกให้เด็กปกติ โดยคำนึงถึงระดับขั้นของพัฒนาการที่เขาทำได้และสิ่งที่เราอยากเสริม เช่น ลูกปัดใช้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก หนังสือนิทานฝึกภาษา โทรศัพท์ฝึกการเล่นสื่อสาร เป่าลูกโป่งฝึกปฏิสัมพันธ์ ลูกบอลฝึกการเคลื่อนไหว และต้องประยุกต์วิธีเล่นให้เข้ากับความสามารถของเด็กคนนั้น ดูว่าขณะที่นำมาใช้เด็กต้องการความช่วยเหลือด้านไหน ต้องแยกย่อยรายละเอียดของพัฒนาการมากขึ้น เช่น ถ้าเด็กมีกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรงหยิบจับอะไรไม่คล่อง ไม่แน่น อาจให้เล่นร้อยลูกปัด แต่แทนที่จะเลือกลูกปัดขนาดเล็กๆ ก็ควรเลือกลูกปัดขนาดใหญ่ๆ เบาๆ รูที่ใส่กว้างเป็นพิเศษ เมื่อเด็กคล่องมากขึ้นก็ใช้ลูกปัดที่มีขนาดเล็กลง ของเล่นชิ้นเดียวกันสามารถนำมาใช้กระตุ้นพัฒนาการด้านอื่นได้ด้วย เช่น ร้อยลูกปัดสอนเรื่องรูปทรง สี จำนวน ด้วยก็ได้ หนังสือนิทานก็สามารถสอนคำศัพท์ สี มารยาท วินัย ผลัดกันเป่าลูกโป่งคนละครั้งสอนเรื่องการรอคอย และฝึกกล้ามเนื้อปากด้วย
“เด็กแต่ละคนล้วนมีของเล่นชิ้นโปรดไม่ว่าเด็กปกติหรือเด็กพิเศษ เช่น บางคนเห็นรถเป็นไม่ได้ต้องเล่นก่อน บางคนชอบเล่นตุ๊กตา เด็กแต่ละคนอาจมีวิธีเล่นของเล่นที่หลากหลาย ไม่เหมือนกัน บางคนเล่นได้ไม่นานต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเด็กสมาธิสั้นเห็นรถแล้วเล่นได้แป๊บเดียวก็เปลี่ยนไปเล่นอย่างอื่น เล่นไปเรื่อยๆ ไม่เป็นชิ้นเป็นอันก็ได้ ขณะที่เด็กปกติหลายคนเล่นและสร้างเป็นเรื่องราว ขับรถไปซื้อผลไม้ให้แม่ที่ตลาดต้องเลี้ยวซ้ายขวา ขากลับแวะเติมน้ำมันด้วยก็ได้ สิ่งสำคัญคือต้องสนุก จัดการเล่นให้อยู่ในบรรยากาศที่สบายๆ ซึ่งพ่อแม่บางคนอาจจะเครียด ทำไมตัดไม่ได้สักที สอนไป 10 ครั้งแล้ว เด็กจะรู้สึกว่าของเล่นชิ้นนี้โผล่มาทีไหร่ ต้องถูกดุ แม่สีหน้าเป็นยักษ์ เขาก็ปฏิเสธ ของเล่นชิ้นนั้นแม้ซื้อมาราคาแพงก็ไร้ค่า การเล่นกับลูกต้องสนุก มีความคาดหวังอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ประเมินว่าเด็กทำได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้พ่อแม่มีกำลังใจในการฝึกให้ลูกดีขึ้น”
อ่านเทคนิคการเล่นที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ของเด็กพิเศษทั้งหมด ขอบคุณข้อมูล จาก นิตยสาร Mother&Care / Vol.4 No.35 Nov 2007
อ้างอิง http://www.wattanasatitschool.com