อุปกรณ์ของเล่นและเกมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษวัย0-1ปี
วัสดุอุปกรณ์ / เกม
1.วงแหวนที่มีลักษณะพื้นผิวแตกต่างกันอาจเป็น พลาสติกแข็ง , ยางนิ่ม หรือผ้า ฯลฯ (อายุ 3-8 เดือน) เด็กวัยนี้มักนำของเล่นเข้าปาก
ใช้ปากในการดูด อม เลีย ใช้เหงือกย้ำ กัดเล่น เพื่อฝึกความแข็งแรงของเหงือก และยังอาจสามารถลดอาการเจ็บขณะที่ฟันของเด็กวัยนี้
กำลังขึ้นได้ โดยนำวงแหวนพลาสติกยางไปแช่ตู้เย็น ความเย็นจากยางจะลดอาการเจ็บได้ขณะที่เด็กกัดเล่น
2. โมบายพวงวัสดุที่เป็นรูปสัตว์ หรือดอกไม้ ที่มีสีสันสดใส แขวนไว้ที่หัวเตียงหรือเปล ซึ่งอาจมีเสียงดนตรีประกอบด้วย (อายุ 3-5 เดือน)
เพื่อฝึกการใช้สายตาในการมองวัตถุขณะเคลื่อนไหว ขณะที่เด็กนอนเล่นอยู่บนเตียง แขวนโมบายอยู่เหนือศีรษะเด็กเพื่อให้เด็กได้ใช้สายตา
มองดูขณะของเล่นแกว่งไปมา เด็กจะสนใจมองดูการเคลื่อนไหวของวัตถุ และยังสามารถฝึกการฟังเสียงดนตรีของเครื่องเล่นอีกด้วย
3. ตุ๊กตายางผิวหยาบหรือนิ่มอาจทำจากผ้าหรือพลาสติกยางซึ่งอาจบีบมีเสียง / ไม่มีก็ได้ (อายุ 4-12 เดือน) เพื่อฝึกคว้าจับและ สัมผัส
โดยใช้ของเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสที่ต่างกัน เด็กวัยนี้ชอบจับสัมผัส ลูบ คลำ บีบเล่น หรือโยนเล่น กลิ้งเล่น และฝึกการฟังเสียง ต่างๆกันของของเล่น
ขณะบีบ เขย่า เคาะ ตลอดทั้งฝึกจับของเล่นเปลี่ยนมือได้อีกด้วย
4.เครื่องเขย่าให้เกิดเสียงได้แก่ กรุ๋งกริ้ง ,กระดิ่ง ซึ่งอาจมีขนาดและน้ำหนักที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคน (อายุ 3-12 เดือน)
เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือในการจับและคว้าของเล่น ฝึกการฟังเสียงของของเล่นที่มีความแตกต่างกัน เด็กวัยนี้ชอบคว้า จับ เขย่า เคาะ ของเล่นเพื่อ
ให้เกิดเสียงต่าง ๆ รวมทั้งสามารถกระตุ้นให้เด็กได้สนใจมองขณะที่เด็กมีกิจกรรมในการจับเขย่า เคาะเล่นอีกด้วย
5.กระจกเงา (อายุ 4-12 เดือน) เพื่อฝึกการมองและการสังเกต การเคลื่อนไหวของหน้าตา และท่าทางขณะมองเล่นเด็กวัยนี้มักชอบมองเงาตัวเอง
และสิ่งอื่น ๆ ในกระจก
6. ของเล่นไขลาน เช่น ลูกเป็ด ลูกไก่ และอื่น ๆซึ่งอาจมีเสียงดนตรีประกอบ ขณะที่ของเล่นไขลานเคลื่อนไหว เด็กสนใจและมองตามการ
เคลื่อนไหวของของเล่นเหล่านั้น ตลอดทั้งกระตุ้นให้เด็กเกิดการเคลื่อนไหวตัวเองอีกด้วย เช่น เด็กอาจจะคืบ , คลาน หรือ เกาะเดิน ,
เหนี่ยวตัวลุกยืน เกาะยืน เพื่อให้ได้ของเล่นเหล่านั้น
7. วัสดุรูปทรงเรขาคณิต อาจเป็นผ้า ,กล่องสีต่าง ๆ ,ก้อนไม้ หรือ ก้อนพลาสติกที่มีขนาดต่างกัน เพื่อฝึกการสังเกตรูปร่าง รูปทรง และจับกำ
ซึ่งภายในกล่องสีต่าง ๆ อาจใส่เม็ดถั่ว / เม็ดพลาสติก ไว้ข้างในได้ เมื่อเด็กเขย่า / เคาะ แล้วเกิดเสียง เพื่อกระตุ้นการฟัง และความสนใจ
ของเด็กในขณะเล่น ของเล่นมากขึ้น
8. หมุดหรือไม้สี ซึ่งมีขนาดใหญ่ อาจทำด้วยไม้หรือ พลาสติก พร้อมกระดานมีรู เพื่อเสริมสร้างการใช้ปลายนิ้ว ในการหยิบ หรือยัดนิ้วใส่ลงในรู
หรือในช่องที่เจาะไว้บนกล่อง เด็กวัยนี้เริ่มใช้ปลายนิ้ว หยิบ หรือใช้นิ้วยัดใส่รู หรือช่องที่เจาะไว้
9. เกมจ๊ะเอ๋ (อายุ 7 เดือน – 1 ปี) เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักการค้นหาวัตถุที่หายไป ตลอดทั้งฝึกความสนใจ ,สมาธิในการฟังจังหวะของเสียง
และยังเป็นการเสริมสร้างปฎิสัมพันธ์ ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ด้วย โดยผู้ใหญ่อาจใช้มือ , ผ้า หรือกระดาษปิดหน้าตัวเอง หรือปิดหน้าเด็ก
และเมื่อเปิดมือ ผ้า หรือกระดาษออกพร้อมกับพูดคำว่า “จ๊ะเอ๋” ซึ่งน้ำเสียงที่ใช้ควรจะเร้าอารมณ์เด็กให้เกิดความสนุกสนานด้วย
ซึ่งเด็กจะมองหาหน้าผู้ใหญ่ที่หายไปในขณะเล่น
10. เกมปูไต่ เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กได้รับการฟังเสียง ฝึกความสนใจ มีการจับจ้องมองหน้าแม่ ตลอดทั้งได้รับรู้ถึงการสัมผัสจากวัตถุที่มีความ
แตกต่างกันของพื้นผิว สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก รวมถึงพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีของเด็กด้วย โดยผู้ใหญ่ใช้ปลายนิ้ว
หรือของเล่น หรือวัสดุที่มีพื้นผิวต่าง ๆ กัน เช่น ผ้า , ฟองน้ำ , ตุ๊กตายางไล้ไปบนผิวเด็กในทุกจุดของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ขณะเล่นเกม
ผู้ใหญ่ควรพูดคุย หัวเราะ และยิ้ม สร้างบรรยากาศให้เด็กสนุกสนานไปด้วย ตลอดทั้งจุดต่าง ๆ ที่ลูบไล้ / สัมผัสไปบนผิวเด็กควรบอกให้เด็กได้รับรู้ด้วย
เช่น “แม่กำลังลูบไล้มือของลูกนะ” อาจร้องเพลงขณะเล่นปูไต่ด้วยก็ได้
11. เกมจับปูดำ(อายุ 9-12 เดือน) เกมนี้เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือในการเปิด – ปิดมือหรือกำ – แบมือ ตลอดทั้งเด็กเริ่มสามารถเลียนแบบท่าทางกำมือ
แบมือจากพ่อแม่ในขณะเล่นเกมนี้ โดยขณะเล่นผู้ใหญ่ควรร้องเพลง “จับปูดำขย้ำปูนา จับปูม้า มาคว้าปูทะเล”ร่วมด้วย เด็กจะเกิดความสนุกสนาน
และสร้างเสริมการมี ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย รวมทั้งเป็นการฝึกการฟัง ความสนใจ และสมาธิให้กับเด็กอีกด้วย
12. เกมตบมือเปาะแปะ (อายุ 9-12 เดือน) เกมนี้เพื่อฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อมือทั้ง 2 ข้าง และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
ในขณะเล่นด้วย ตลอดทั้งให้เด็กฝึกฟังจังหวะในขณะตบมือ และเพิ่มความสนุกสนานให้กับเด็กอีกด้วย โดยผู้ใหญ่จับมือเด็กมาตบมือกันหรือ
เด็กตบมือเอง เมื่อผู้ใหญ่กระตุ้นให้เด็กทำตาม อาจใช้คำกลอน หรือ เพลงที่เกี่ยวข้องกับการตบมือมาประกอบด้วยก็ได้ เช่น คำกลอน
“ตบมือเปาะแปะ เรียกแพะมากินนม นมไม่หวานเอาน้ำตาลมาใส่ “ หรือเพลงตบมือ “ เรามาตบมือกันดีกว่า( 3 ครั้ง ) แล้วเราชวนกันร้องเพลง “
13.เกมค้นหาของเล่น เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กได้รู้จักใช้ความคิดในการแก้ปัญหาอย่างง่าย ในการค้นหาของเล่น ซึ่งผู้ใหญ่อาจช่วยชี้แนะได้บ้าง
เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกถึงความสำเร็จในการทำงาน ตลอดทั้งเด็กได้รับการฝึกประสบการณ์เรื่องการคงอยู่ของวัตถุ (Object Permanent)
โดยผู้ใหญ่ใช้ผ้าหรือกระดาษปิดของเล่นในขณะที่เด็กเล่นอยู่ อาจจะปิดบางส่วน หรือปิดทั้งหมดของของเล่นก็ได้ ซึ่งเด็กจะพยายามค้นหา
ของเล่นโดยการดึงผ้า หรือกระดาษออก
14. กระบะใส่ทราย / ข้าวสารย้อมสี หรือเม็ดถั่วต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทางการจับ หยิบ ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยการใช้ปลายนิ้วหยิบจับวัตถุ
ที่มีขนาดต่าง ๆ กัน ตลอดทั้งเพิ่มพูนทักษะ การประสานงานระหว่างมือและตา รวมทั้งฝึกทักษะทางสังคม รู้จักมีการให้และรับ (Turn – Taking)
สร้างลักษณะนิสัยที่ดีและเหมาะสม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถฝึกได้ตั้งแต่ยังเด็ก โดยการนำทราย, หรือข้าวสารย้อมสี
หรือเม็ดถั่วต่าง ๆ ใส่กระบะ และใช้อุปกรณ์การเล่นทราย หรืออาจประยุกต์ใช้อุปกรณ์ในครัวเรือน เช่น จาน, ชาม, ช้อน , แก้วน้ำ ฯลฯ มาร่วมในเกมนี้
อุปกรณ์ของเล่นและเกมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษวัย 1 – 3 ปี
วัสดุอุปกรณ์ / เกม
1. บล็อกขนาดต่าง ๆ ประมาณ 5-6 ชิ้น อาจทำด้วยไม้ , พลาสติก หรือกระดาษแข็ง หรือเครื่องเล่น Lego หรืออาจใช้กล่องสบู่ ,
กล่องนมแทน ซึ่งสามารถวางต่อกัน หรือวางซ้อนกัน เพื่อฝึกทักษะการจับวาง , การวางซ้อน , การวางเรียง ฝึกทักษะการใช้มือ
และตา ประสานกัน , ฝึกการกะระยะ. ฝึกการสังเกต ฝึกความคิดเปรียบเทียบขนาดต่าง ๆ ของวัตถุ
2. กระดาน ค้อนตอก อาจทำด้วยไม้ หรือพลาสติก เพื่อฝึกทักษะการใช้มือ ,ข้อมือ ,และท่อนแขน ตลอดทั้งการทำงานประสานงานกัน
ระหว่างมือกับตา ฝึกการกะระยะ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการใช้อุปกรณ์ของเล่นในการตอก
3. ของเล่นเป็นชิ้นที่มีขนาดต่าง ๆ กันใหญ่บ้างเล็กบ้าง หรือยาวบ้างสั้นบ้าง , อาจทำด้วยไม้หรือ พลาสติก เพื่อฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อ
มือ ,สังเกตรูปร่าง และขนาด และรู้จักการเรียงขนาดเป็นระบบ เช่น เรียงตามลำดับจากเล็กไปใหญ่ หรือจากสั้นไปยาวโดยเด็กสามารถ
เรียนรู้การจัดวางรูป ขนาดเป็นชั้นต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
4. ของเล่นที่ทำให้เกิดเสียง เช่น กล่องดนตรี , ของเล่นที่จับเขย่า , เคาะมีเสียง หรือ เครื่องดนตรีประเภทKeyboard ,กรับพวง ฯลฯ เพื่อฝึกความ
สนใจฟังเสียงต่าง ๆ จากเครื่องดนตรี และสนุกสนาน ฝึกสมาธิและความสนใจ ตลอดทั้งฝึกการใช้มือ นิ้วมือ ในการกด , เคาะ หรือตี
5.บอลผ้า / ลูกบอลพลาสติกยาง หรือแป้นหลักใส่ห่วงเพื่อฝึกการกะระยะใช้สายตาประสานกับ มือ – แขน ในการโยน, กลิ้ง , ปา ลงเป้าหมาย
(อาจเป็นบุคคล หรือ ตะกร้า หรือ ลัง ) ได้คล่องแคล่ว แม่นยำ
6.ของลากจูง เช่น สัตว์ต่าง ๆ , รถ ,เรือ ,รถไฟ มีเชือกร้อยให้เด็กลากจูง เพื่อฝึกความคล่องแคล่วของการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่
ในการเดินหรือวิ่งลากจูงของเล่นไป-มาอาจจะเคลื่อนไหวช้า – เร็ว แล้วแต่ความสามารถและความสนใจของเด็กแต่ละคน
7.อุปกรณ์เล่นทราย เช่น พลั่ว ,ช้อน ,ถังพลาสติก ใช้เล่นกับทราย หรือ ข้าวสารย้อมสี หรือ เม็ดถั่วต่าง ๆ เพื่อฝึกการใช้มือ,นิ้วมือ ,แขน
และการทำงานประสานกันระหว่างมือ และ ตา ตลอดทั้งทักษะทางสังคมในการแบ่งปัน การให้ – รับ (Turn – Taking) ระหว่างบุคคล
อื่นอาจดัดแปลงใช้กับอุปกรณ์ในครัวเรือนได้เช่น ช้อน, จาน, ถ้วย
8. หนังสือรูปภาพ อาจทำด้วยกระดาษแข็งอย่างดี ,ทำด้วยผ้า , ทำด้วยพลาสติกรวมทั้ง โปสเตอร์ภาพสัตว์ต่าง ๆ และอื่น ๆ เพื่อฝึกการใช้มือ
นิ้วมือ ข้อมือ ในการพลิกหน้าหนังสือ และใช้นิ้วชี้รูปภาพต่าง ๆ ตลอดทั้งทักษะด้านความเข้าใจภาษา และการพูด
9. ภาพตัดต่อ (Jigsaw) ควรมีจำนวน 3 – 6 ชิ้น อาจทำด้วยพลาสติก ,ไม้ , กระดาษแข็งอย่างดี เพื่อฝึกให้เด็กสังเกต , เปรียบเทียบ
ฝึกการคิดแบบบูรณาการ(ภาพรวม) ,ฝึกการจำ โดยการนำชิ้นส่วนของภาพมาต่อเรียงกัน เพื่อเกิดภาพได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เด็กเกิด
ความภาคภูมิใจ เสริมสร้างความรู้สึกทีดีต่อตัวเอง(Self - esteem)
10. สีเทียน , สีเมจิกแท่งใหญ่ ขีดเขียนบนกระดาน หรือกระดาษ เพื่อใช้ขีดเขียน ในลักษณะที่ไม่เป็นรูปร่างใด ๆ ทั้งสิ้น เด็กจะขีดเขียนเอง
และสร้างสรรค์จินตนาการของตัวเอง โดยเด็กเริ่มจับดินสอในลักษณะของมือกำ ต่อมาจึงจับในลักษณะของการใช้นิ้วมือได้ในที่สุด และเริ่ม
เขียนแบบมีรูปร่างทางเรขาคณิตมากขึ้น คือ ขีดเส้นตรง และวงกลม เพื่อฝึกทักษะการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อนิ้วมือ ข้อมือ และท่อนแขน
ตลอดทั้ง ฝึกการคิดจินตนาการต่าง ๆ
11.ของเล่น Pop – Up ที่เป็นรูปสัตว์ เพื่อฝึกการทำงานของนิ้วมือ , มือ ในการกด ,หมุน ,บิด , ดึง ตลอดทั้งสร้างเสริมทักษะของพัฒนาการ
ทางภาษา ในด้านความเข้าใจ และการพูด รวมทั้งสร้างความสนใจ และสร้างสมาธิ
12. เกมวาดรูปจากนิ้วมือ (Finger Painting) อาจใช้สีน้ำ , สีโปสเตอร์ หรือกาวน้ำ / แป้งเปียกผสมสี เกมนี้เพื่อกระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก
ได้แก่ นิ้วมือ , มือ ตลอดจนการประสานงานของตาและมือ สามารถกระตุ้นความสนใจ,สร้างสมาธิในขณะทำกิจกรรม และฝึกงานด้านความคิด
สร้างสรรค์ โดยให้เด็กใช้นิ้ว หรือมือในการละเลงสีน้ำ ,สีโปสเตอร์ ,สีแป้งเปียก ลงบนกระดาษหรือกระดาน
13. เกมจำจี้มะเขือเปาะ เพื่อฝึกการสร้างความสัมพันธ์ กับบุคคลอื่น ๆ โดยผู้ใหญ่ หรือเด็กจะเป็นผู้นำเกม ใช้นิ้วจิ้มลงบนนิ้วมือของผู้เล่นทีละนิ้ว
พร้อมกับร้องเพลง “จ้ำจี้มะเขือเปาะ” เป็นการฝึกการฟัง สร้างความสนใจ และการมีสมาธิในการเล่นกิจกรรม ตลอดทั้งได้รับการเสริมทักษะ
พัฒนาการด้านภาษา และรู้จักกติกาอย่างง่ายในการเล่น
สรุป
การเล่นของเด็กในวัยนี้ควรอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ตลอดเวลา แต่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองทำ และเรียนรู้จากการกระทำด้วยตนเอง
ให้โอกาสเด็กได้ฝึกความสามารถในการคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้ชี้แนะ หรือให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาความรู้สึกที่ดีต่อ
ตนเอง (Self - Esteem) รู้ว่าตนเองมีคุณค่าซึ่งจะสามารถพัฒนาให้เกิดความมั่นใจ และมีบุคลิกภาพที่ดีต่อไปในอนาคต นอกจากนี้เด็ก
ยังมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบลองผิดลองถูก และต้องการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่แปลกใหม่ด้วยตัวเอง ตลอดทั้งยังยึดตัวเอง
เป็นศูนย์กลาง (Ego centric) ไม่ชอบให้ใครมาสั่งหรือบังคับ จึงอาจแสดงออกโดยการต่อต้าน เช่น ขัดใจลงไปนอนดิ้น ร้องกวนอาละวาด
หากพ่อแม่รู้จักหลอกล่อหรือเบี่ยงเบนความสนใจ ก็จะลดพฤติกรรมเหล่านั้นได้
________________________________________
แหล่งที่มา
ประภาศรี นันท์นฤมิตหน่วยพัฒนาการและการเจริญเติบโตภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย